ปลูกผักสร้างสุข

การสร้างบรรยากาศดี ๆ ในสถานที่ทำงานเป็นแรงกระตุ้นอย่างหนึ่งให้บุคลากรทำงานได้อย่างมีความสุขมากขึ้น การปลูกต้นไม้ในสถานที่ทำงานน่าจะเป็นสิ่งที่ง่ายที่สุด หากจะปลูกต้นไม้สักต้นเพื่อให้เกิดประโยชน์ การปลูกผักบนโต๊ะทำงานเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจและสามารถนำไปปรุงอาหารได้อีกด้วย ไม่แน่อาจจะกลายเป็นงานยามว่างที่สร้างรายได้ให้พนักงานไม่รู้ตัว

สำนักคอมพิวเตอร์ได้จัดกิจกรรมปลูกผักสีเขียวขึ้น ในวันที่ 19 ธันวาคม 2562 ณ บริเวณ ชั้น 13 อาคารนวัตกรรม ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการกระตุ้นการสร้างบรรยากาศดีๆ ในสถานที่ทำงาน และผู้บริหาร บุคลากรได้มีโอกาสทำกิจกรรมร่วมกัน รวมถึงการสร้างพื้นที่สีเขียวในสถานที่ทำงานด้วย

        

โดยกิจกรรมในวันที่ 19 ธันวาคม 2562 ได้เรียนเชิญผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุณี รักษาเกียรติศักดิ์ อดีตผู้อำนวยการสำนักคอมพิวเตอร์ของเรา มาเป็นวิทยากร ซึ่งท่านให้ความสนใจในการปลูกผักหลังเกษียณอายุ เพื่อให้ความรู้แก่ผู้บริหารและบุคลากรสำนักคอมพิวเตอร์ โดยจะมีการเพาะต้นทานตะวันอ่อนและต้นอ่อนผักบุ้ง ซึ่งใช้เวลาไม่นานในการเก็บเกี่ยวผลผลิตภายใน 7-10 วัน โดยให้แต่ละผู้เข้าร่วมกิจกรรมปลูกคนละ 3 กระถาง เพื่อเตรียมส่งต่อความสุขให้กับส่วนงานและคนที่รักต่อไป รูปกิจกรรมทั้งหมด คลิกที่นี่

        

           

 

 

ต้นอ่อนทานตะวัน

สรรพคุณ

มีโปรตีนสูงกว่าถั่วเหลือง มีวิตามินเอ และวิตามินอีสูง บำรุงสายตา ผิวพรรณและชะลอความชรา มีวิตามิน บี 1 บี 6 โอเมก้า 3 โอเมก้า 6 โอเมก้า 9 ซึ่งช่วยบำรุงเซลล์สมอง ป้องกันโรคสมองเสื่อม (อัลไซเมอร์) และธาตุเหล็กสูง

อุปกรณ์ที่ใช้

  1. เมล็ดพันธุ์
  2. ดินละเอียด ดินผสม ขุยมะพร้าว แกลบดำ มูลไส้เดือน
  3. กระบะสำหรับเพาะหรือตะกร้า

วิธีปลูก

  1. แช่เมล็ดทานตะวัน 1 คืน (ไม่เกิน 12 ชม.)
  2. ใส่ดินประมาณ 2/3 ตะกร้า รดน้ำให้ดินชุ่ม
  3. โรยเมล็ดที่แช่แล้ว กระจายให้ทั่วตะกร้า
  4. โรยดินกลบ บางๆ
  5. วางตะกล้าซ้อนทับกัน เพื่อกดให้รากดินจมดิน แล้ววางตะกร้าในที่โล่ง อากาศถ่ายเทดี ยังไม่ต้องออกแดด รดน้ำ เช้า เย็น ให้ดินชุ่ม
  6. วันที่ 4-5 เมื่อต้นงอกยาว มี 2 ใบเลี้ยงค่อยนำออกรับแดด ต้นจะยืดยาว เป็นสีเขียว เมื่อต้นเริ่มยืด พันขอบตะกร้าให้เปลี่ยนตะกร้าจากการทับเป็นการครอบ ลงบนต้น การครอบตะกร้าจะช่วยให้ความสูงของต้น ยืดยาวเสมอกัน สวยงาม
  7. วันที่ 7-8 ตัดทานได้

ระยะเวลาเก็บเกี่ยว 7 วัน

เมนูอาหารแนะนำ

  1. ส้มตำไทยต้นอ่อนทานตะวันกับกุ้งสด
  2. ต้นอ่อนทานตะวันผัดไข่
  3. วุ้นเส้นผัดต้นอ่อนทานตะวัน
  4. ต้นอ่อนทานตะวัน 66 สูตร

ต้นอ่อนผักบุ้ง

สรรพคุณ

  1. มีวิตามินเอ เบต้าแคโรทินมาก (สารต้านอนุมูลอิสระ) ช่วยบำรุงสายตา
  2. มีเกลือแร่ ธาตุเหล็ก ช่วยบำรุงเลือด
  3. มีแคลเซียม ฟอสฟอรัส ช่วยบำรุงกระดูกและฟัน
  4. มีใยอาหาร ช่วยในการข้บถ่าย
  5. ช่วยลดน้ำตาลในกระแสเลือด ช่วยป้องกันมะเร็ง
  6. มีฤทธิ์เย็น ช่วยบรรเทาอาการร้อนใน
  7. มีแคลอรี่ต่ำ เหมาะสำหรับคนควบคุมน้ำหนัก
  8. มีคุณค่าทางอาหารมากกว่าผักบุ้งต้นใหญ่มากถึง 5 – 10 เท่าตัว

อุปกรณ์ที่ใช้

  1. เมล็ดพันธุ์
  2. ดินละเอียด ดินผสม ขุยมะพร้าว แกลบดำ มูลไส้เดือน
  3. กระบะสำหรับเพาะหรือตะกร้า

วิธีปลูก

  1. ล้างเมล็ด 1-2 น้ำ และแช่เมล็ดในน้ำประมาณ 8 ชั่วโมง หรือ 1 คืน
  2. เอาเมล็ดขึ้นจากน้ำใส่ตะแกรงให้สะเด็ดน้ำประมาณ 10-20 นาที แล้วนำเมล็ดไปบ่มโดยห่อผ้าขาวบางทิ้งไว้ประมาณ 20 ชั่วโมง สังเกตว่าจะมีตุ่มเล็กๆ งอกออกมาก็สามารถเอาลงดินหรือวัสดุปลูกต่อไปได้
  3. เตรียมภาชนะปลูก ดินเพาะ นำเมล็ดที่บ่มแล้วโรยลงในภาชนะให้สม่ำเสมอ ไม่ควรแน่นเกินไปกลบดินบางๆ แล้วฉีดน้ำละอองฝอย
  4. รดน้ำ เช้าเย็นให้ชุ่มประมาณ 8-10 วัน จะได้ต้นอ่อนผักบุ้งไว้รับประทาน

ระยะเวลาเก็บเกี่ยว 8 - 10 วัน

เมนูอาหารแนะนำ

  1. โรลผักบุ้งอ่อนซอสถั่ว
  2. ต้นอ่อนผักบุ้งผัดเต้าเจี้ยว

วิดีโอแนะนำ