การจัดการความรู้สำนักคอมพิวเตอร์ มุ่งให้องค์กรนั้นเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ภายในองค์กร ทำให้เกิดวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยเริ่มจากให้มีการจัดการความรู้ที่มีอยู่ในตัวบุคคล ให้ออกมาอยู่ในรูปแบบที่เป็นลายลักษณ์อักษร สามารถนำไปใช้และเมื่อมีการใช้งานสามารถนำมาปรับปรุงและพัฒนาให้เกิดแนวปฏิบัติที่ดี เพื่อให้องค์กรมีประสิทธิภาพในการทำงานที่ดียิ่งขึ้น บุคลากรมีความรู้ความสามารถเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้การบริการของสำนักคอมพิวเตอร์ เป็นที่พอใจของผู้ใช้บริการ
เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้มีความรู้ความเข้าใจด้านการจัดการองค์ความรู้ เพื่อมาใช้ในการพัฒนางาน โดยมีการกำหนดระดับขั้นการจัดการความรู้ แบ่งออกเป็น 4 ระดับ ดังนี้
- ระดับบุคคล (Personal KM) หมายถึง บุคลากรภายในองค์กรมีความตระหนักด้านการจัดการความรู้ และสามารถจัดการความรู้ที่มีอยู่ในตนเองได้ โดยมีการจัดทำคู่มือหรือขั้นตอนการปฏิบัติงานตามสายงานอย่างครบถ้วน
- ระดับฝ่าย (Department, Project, Team KM) หมายถึง บุคลากรภายในฝ่ายมีการจัดการองค์ความรู้และสามารถให้บุคลากรที่ปฏิบัติงานภายในฝ่ายปฏิบัติร่วมกันได้
- ระดับองค์กร (Organization-wide KM) หมายถึง บุคลากรภายในองค์กรสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามสายงานและนำมาประยุกต์ได้
- ระดับองค์กรภายนอก (Inter-Organization KM) หมายถึง องค์กรมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับองค์กรภายนอก
ดังนั้น เพื่อให้การจัดทำแผนการจัดการความรู้สำนักคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2562-2565 บรรลุตามเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สำนักคอมพิวเตอร์จึงได้กำหนดวิสัยทัศน์และประเด็นยุทธศาสตร์ ไว้ดังนี้
วิสัยทัศน์การจัดการความรู้
องค์กรที่มีการจัดการความรู้อย่างมีระบบเพื่อให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้
พันธกิจการพัฒนาการจัดการความรู้
สร้างและจัดการองค์ความรู้ เพื่อใช้ในการแบ่งปันให้แก่บุคลากรอย่างเป็นระบบ เพื่อสนับสนุนพันธกิจหลักของมหาวิทยาลัย